ช่วงนี้บ้านเราเริ่มมีแท็บเล็ตที่เป็น Android 3.0 Honeycomb เข้ามาขายบ้างแล้ว เช่น
Acer Iconia A500 และกำลังจะทยอยตามเข้ามาอีกหลายตัว
ผมเองได้เครื่อง Iconia A500 มาทดสอบแล้วเช่นกัน แต่นั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนรีวิวอย่างไรดี เพราะส่วนของระบบปฏิบัติการ Honeycomb ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะพอดู สุดท้ายสรุปว่าจะแยกเป็นตอนเฉพาะของระบบปฏิบัติการ Android 3.0 Honeycomb ไปเลย (โดยไม่เจาะจงยี่ห้อ) แล้วรีวิวแท็บเล็ตต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต จะเน้นที่ตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มเติมอื่นๆ เท่านั้น
หมายเหตุ: รีวิวตัวระบบปฏิบัติการ Honeycomb ชิ้นนี้อิงจาก Acer Iconia A500 เป็นหลัก อาจจะมีไอคอนของโปรแกรมที่แถมมากับ A500 บ้าง แต่จะกล่าวถึงในรีวิวของตัว A500 อีกที ตรงนี้เอาเฉพาะ Honeycomb ล้วนๆ ครับ
เริ่มกันเลย
หน้า Lockscreen
เมื่อเปิดแท็บเล็ต Honeycomb ขึ้นมา จะเจอหน้าจอ lockscreen คล้ายๆ กัน วิธีการปลดล็อคจะต่างไปจากมือถือ Android (รุ่นมาตรฐาน) อยู่บ้าง โดยเราจะต้องลากวงกลมบนหน้าจอไปทับรูปกุญแจ เพื่อปลดล็อค (สามารถตั้งค่าให้ล็อคหน้าจอด้วยวิธีอื่นๆ อย่าง pattern/PIN/password ได้ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้)
หน้าจอ Homescreen
หน้าจอนี้เป็นหน้าจอที่สำคัญที่สุดของ Android เพราะเราต้องอยู่กับมันตลอดเวลา อย่างไรก็ตามมันเปลี่ยนไปจาก Android 2.x พอสมควร
เดิมที Android เป็นระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาสำหรับมือถือจอสัมผัส ที่มีปุ่มควบคุม 4 ปุ่ม (บางเจ้าอย่างซัมซุงอาจตัดเหลือ 3) แต่พอมาเป็นแท็บเล็ตที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก การวางปุ่มที่เป็น physical button ที่ขอบด้านใดด้านหนึ่งอาจทำได้ยาก (เพราะโอกาสที่ผู้ใช้จะจับผิดข้างมีเยอะมาก)
Android Honeycomb จึงปรับส่วนติดต่อผู้ใช้ให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา physical button ทุกอย่างอยู่บนหน้าจอหมด นั่นแปลว่าฟังก์ชันของปุ่ม physical button จะถูกย้ายมาอยู่ในปุ่มบนหน้าจอแทน
ในโอกาสเดียวกัน กูเกิลเลยถือโอกาสปรับส่วนติดต่อผู้ใช้ของ Android ใหม่ในหลายๆ จุด แก้ปัญหาเดิมๆ ของ Android ไปหลายอย่าง ทำให้ Honeycomb หน้าตาต่างออกไปจาก Android 2.x มาก
ผมไม่รู้จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรจึงจะเข้าใจง่ายๆ เลยทำเป็นแผนภาพน่าจะดีกว่าครับ (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็มกันเอง)
ไล่ดูไปทีละสี
- สีฟ้าอ่อน status bar ถูกย้ายจากขอบบนของหน้าจอ ไปไว้ที่ขอบล่างของหน้าจอ แถบด้านล่างนี้จะถูกแสดงบนทุกๆ หน้าจอ ไม่ว่าจะเปิดโปรแกรมไหนก็ตาม
- สีเหลือง ปุ่มเรียกรายการโปรแกรม ย้ายจากขอบล่างของหน้าจอ ไปไว้ที่มุมบนขวา (เฉพาะหน้าจอ homescreen)
- สีม่วง ปุ่มค้นหา กลายร่างจากปุ่ม physical button ไปอยู่ที่มุมซ้ายบนของหน้าจอ (Voice Search ก็รวมมาด้วยเลย)
- สีน้ำเงิน ปุ่มถอยหลัง กลายร่างมาอยู่ที่มุมซ้ายล่าง ปุ่มแรกติดขอบจอ เป็นรูปลูกศรชี้ไปทางซ้าย ทำงานแบบเดิม
- สีเขียว ปุ่มเมนู อันนี้จะซับซ้อนอยู่บ้าง เดิมทีปุ่มเมนูของ Android 2.x จะทำหน้าที่เปิด context menu ซึ่งมีปุ่มสั่งงานคำสั่งต่างๆ (ซึ่งมีปัญหาว่าคนใช้ใหม่ๆ จะหาไม่เจอ) แต่ใน Android 3.0 เป็นต้นไป ปุ่มเหล่านี้จะถูกแสดงอยู่ที่มุมขวาบนของหน้าจอ (ตัวอย่างในภาพคือปุ่ม +)
- สีแดง ปุ่มโฮม อันนี้จะซับซ้อนที่สุด เพราะเดิมปุ่มโฮมของ Android 2.x ทำหน้าที่สองอย่าง ใน Android 3.0 มันจะถูกแยกร่างกัน
- กดครั้งเดียว เพื่อกลับหน้า homescreen ความสามารถนี้จะกลายร่างเป็นปุ่มรูปบ้าน (ปุ่มที่สองที่มุมซ้ายล่าง) กดแล้วได้ผลเท่ากันคือกลับหน้า homescreen
- กดค้าง เพื่อเรียกหน้าจอสลับแอพ อันนี้เป็นคำสั่งอีกอันของ Android 2.x ที่ซ่อนดีเกินไป ใน Android 3.0 มันเลยกลายร่างเป็นปุ่ม Recent Apps (ปุ่มที่สามที่มุมซ้ายล่าง) ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ส่วนของ homescreen นั้นไม่ต่างไปจากเดิม คือมีทั้งไอคอนและ widget สำหรับแสดงข้อมูลต่างๆ เพียงแต่กว้างขึ้นเท่านั้น
App Launcher
ลองกดปุ่มเรียกรายชื่อแอพทั้งหมดในเครื่องขึ้นมา จะได้ผลตามภาพ
หน้ารายการแอพยังคล้ายๆ ของเดิม คือ เรียงตามตัวอักษร เพียงแต่เปลี่ยนจากการเลื่อนบน-ล่าง (ใน Stock Android) มาเป็นเลื่อนซ้าย-ขวาแทน สังเกตดีๆ ที่ขอบด้านขวามือจะมี "เงา" ของไอคอนบางอันอยู่ อันนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่ายังมี "หน้าถัดไป" ครับ (ผมว่ามันแปลกๆ เหมือนกัน)
สังเกตว่าเปลี่ยนมาหน้าที่สองแล้ว ด้านซ้ายจะมี "เงา" ของไอคอนในหน้าแรกเช่นกัน
จุดที่เปลี่ยนแปลงอีกจุดคือขอบบนจะเห็นแท็บ All กับ My apps ซึ่งก็ตรงไปตรงมา
- All คือแอพทั้งหมดในเครื่อง
- My apps คือแอพที่เราลงเอง ไม่รวมแอพที่มาพร้อมกับเครื่อง
และสุดท้าย ที่มุมขวาบนของหน้ารายการแอพ จะมีไอคอน Market อันเล็กๆ อยู่ กดแล้วก็เข้า Market ครับ
โดยรวมแล้วหน้ารายการแอพยังคล้ายๆ ของเดิม ไม่เปลี่ยนในหลักการเท่าไร เพียงแต่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มมาเท่านั้น
การลากแอพไปไว้บน homescreen
ยังทำได้เหมือนเดิม คือกดค้างที่ไอคอนแอพที่ต้องการเพื่อย้ายไปยัง homescreen แต่ใน Honeycomb จะต่างไปนิดเพราะเราจะเห็นภาพ thumbnail ของ homescreen ทุกหน้าจอโผล่ขึ้นมาในหน้ารายการแอพเลย ดังภาพ
การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ทำให้สะดวกขึ้น คือลากไอคอนไปไว้หน้า homescreen ที่ต้องการได้เลย เพียงแต่ตำแหน่งอาจจะไม่ตรงตามต้องการบ้างเพราะมันเล็ก ต้องมาย้ายกันอีกทีหนึ่ง
อีกประเด็นที่ผมจับภาพไม่ติดคือ ถ้าเรากดค้างที่ไอคอนแอพใดๆ แล้วลากออกจากตำแหน่งเดิม ปุ่ม Market จะกลายเป็นปุ่ม Uninstall ซึ่งเราสามารถถอนการติดตั้งแอพได้ด้วยวิธีนี้ สะดวกกว่าการเข้าไปที่ Settings มาก
การเพิ่มช็อตคัต, widget และเปลี่ยนภาพพื้นหลัง
กลับมาที่หน้า homescreen นะครับ ใน Android 2.x เวลาเราต้องการเปลี่ยนอะไรใดๆ ในหน้า homescreen วิธีการของ Android รุ่นมาตรฐานทำได้ 2 ทาง คือ
- กดค้างไว้ที่ว่างๆ บนหน้า home ซึ่งจะเปิดเมนูสำหรับเพิ่มไอคอน ช็อตคัต และ widget
- กดปุ่มเมนูแล้วเลือกปุ่มที่ต้องการ เช่น Add หรือ Wallpaper
จากนั้นก็เข้าไปยังเมนูเลือกช็อตคัต เลือก widget ที่ต้องการอีกทีหนึ่ง
แต่ใน Honeycomb จะต่างออกไปเล็กน้อย โดยวิธีการเข้าไปยังหน้า "ปรับแต่ง homescreen" มีด้วยกันสองวิธีเช่นกัน
- กดค้างตรงที่ว่างๆ แบบเดียวกัน
- กดปุ่ม + ที่อยู่มุมขวาบนสุดของหน้าจอ
แล้วจะพบกับหน้าจอนี้
หน้าจอปรับแต่ง homescreen เป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน Honeycomb มันจะช่วยให้ปัญหาการลาก widget ข้ามหน้าจอหายไป เพราะมีภาพ thumbnail ของหน้าจอให้วางวัตถุต่างๆ ได้ตามต้องการ โดยครึ่งหน้าจอล่างจะเป็นแท็บสำหรับแสดง widget/ช็อตคัต/พื้นหลัง
Recent Apps
ปุ่มใหม่ของ Honeycomb หน้าที่ของมันก็ตรงตามชื่อ คือแสดงรายชื่อแอพที่เราเพิ่งเปิดใช้ เพื่อให้สลับการทำงานได้ง่าย ต่างจากของเดิมที่ต้องกด Home ค้างเพื่อแสดงรายการแอพ
แอพที่เพิ่งเปิดจะอยู่ล่างสุดเสมอ และมีทั้งชื่อ/ไอคอนประกอบ
การเปลี่ยนแปลงนี้ถือว่าเป็นพัฒนาการของ Android ครับ ช่วยให้การสลับแอพทำได้ง่ายขึ้นมาก เพราะปุ่มสลับแอพจะอยู่บนทุกหน้าจอ (แม้จะเปิดแอพแบบเต็มหน้าจอก็ตาม) อารมณ์มันจึงคล้ายๆ กับ taskbar ของวินโดวส์มาก (แค่ไม่มีปุ่มแสดงแอพ เป็นเมนูแทน)
ตอนต่อไปพบกับส่วนอื่นๆ ได้แก่
Notification
Settings
Keyboard
และ app ต่างๆครับ