ข้อเท้าพลิก…โรคฮิตที่เป็นแล้วเป็นอีก
มีหลายคนที่เคยเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกมาก่อนในอดีต แม้จะรักษาให้หายดีแล้วก็ตาม โอกาสที่จะเกิดอาการพลิกซ้ำที่จุดเดิมก็สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยเกือนตลอดเวลาที่คุณเผลอเรอ โดยเฉพาะคนไหนที่เป็นนักกีฬา ชอบออกกำลังกาย หรือชอบใส่รองเท้าส้นสูง อาการเท้าพลิกก็ยิ่งเกิดได้อยู่บ่อยๆ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็ต้องมานั่งเจ็บใจตัวเองเสียทุกครั้ง และเบื่อหน่ายที่จะต้องมาเจ็บซ้ำๆที่จุดเดิม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มาหาคำตอบกันดีกว่าค่ะ
อาการข้อเท้าพลิกอาจแบ่งได้เป็นอาการเจ็บเล็กเจ็บน้อยไปจนถึงอาการเจ็บหนักจนต้องเข้าเฝือกและใช้ไม้ค้ำยัน โดยหากเป็นอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ก็จะใช้เวลาฟื้นฟูเพียงไม่กี่วัน ในขณะที่ อาการที่รุนแรงก็ต้องใช้เวลาในการพักรักษาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งความรุนแรงของการบาดเจ็บเช่นนี้สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 มีการยืดหรือช้ำของเอ็น เกิดอาการบวมหรือเจ็บบริเวณเอ็นเมื่อกด, ระดับที่ 2 เอ็นฉีกขาดเพียงบางส่วน มีอาการปวดและบวมค่อนข้างมากจนลงน้ำหนักไม่ค่อยได้ และระดับที่ 3 เอ็นฉีกขาดของทั้งหมด จนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่รุนแรงมากที่สุด
แต่ที่น่าแปลก ก็คือ อาการเท้าพลิกมักจะเป็นอาการที่สามารถเป็นได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งคนไหนเคยเกิดอาการพลิกไปแล้ว คุณก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนทั่วๆไป ไม่สามารถบอกลาได้สักที ซึ่งตรงกับการศึกษาของ ดร.เจย์ เฮอร์เทล ที่พบว่า “34% ของผู้ที่เคยเท้าพลิกมาก่อน จะเกิดอาการซ้ำอีกในช่วง 3 ปีถัดมา”
ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเมื่อเกิดอาการข้อเท้าพลิกไปแล้ว ก็มักจะเกิด “อาการข้อเท้าหลวม” ตามมาด้วย ยิ่งเกิดอาการข้อเท้าพลิกบ่อยเท่าไร หรือเข้ารับการทำกายภาพไม่เพียงพอ อาการเช่นนี้ก็จะวนเวียนมาหลอกหลอนคุณไม่รู้จักจบจักสิ้น
ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเท้าหลวมจะมีอาการที่แตกต่างจากคนอื่นๆตรงที่ เวลาเดินจะรู้สึกว่าข้อเท้าทรุดหรือพลิกง่าย ข้อเท้าไม่มั่นคง หรือบางคนไม่สามารถเดินบนพรมได้ อาการข้อเท้าหลวมไม่ได้มีผลต่อการเดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอาการปวดอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาการเส้นเอ็นด้านนอกข้อเท้าฉีกขาด , มีรอยแผลที่กระดูกอ่อนในข้อเท้า , การได้รับบาดเจ็บของเส้นประสาทส่วนปลายเท้า กระดูกเท้าและข้อเท้าหัก เป็นต้น หากมีอาการมากขึ้นอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นนอกข้อเท้า ข้อเท้าผิดรูป หรือข้อเท้าเสื่อมตามมาได้
การรักษาอาการที่ว่านี้หากต้องการจะทำให้ได้ผลดีและหายขาด ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังกล่าวหลายๆประการให้ครบถ้วน เนื่องจากสาเหตุในการเกิดไม่ได้มีสาเหตุมาจากเอ็นข้อเท้ายืดหรือฉีกขาดเพียงอย่างเดียว แต่มักมีปัญหาของเส้นประสาทที่ควบคุมการทรงตัวของข้อเท้า ความแข็งแรงของข้อเท้า และความยืดหยุ่นของเส้นนอกข้อเท้าร่วมด้วย ดังนั้น คุณอาจจะต้องรักษาอาการเหล่านี้จากการ ฝึกบริหารเพิ่มความแข็งแรงของเอ็นบริเวณรอบข้อเท้า หรือ การฝึกการควบคุมการทรงตัวของข้อเท้า ให้ได้เสียก่อน ดังวิธีบริหารต่อไปนี้ เช่น
– ยกเท้าข้างปกติขึ้น และยืนบนเท้าอีกข้างในขณะแปรงฟัน ทำเช่นนี้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 นาที การฝึกการทรงตัว จะช่วยลดโอกาสข้อเท้าพลิกลงได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง
– ยกเท้าข้างปกติขึ้น และยืนบนเท้าอีกข้างในขณะแปรงฟัน ทำเช่นนี้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 นาที การฝึกการทรงตัว จะช่วยลดโอกาสข้อเท้าพลิกลงได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง
– Front Pull หาแผ่นยางยาว 6 ฟุตมาผูกเข้ากับบานพับประตูด้านล่างให้สูงกว่าระดับข้อเท้าเล็กน้อย แล้วเอาปลายอีกด้านผูกเข้ากับสันกระดูกข้อเท้าข้างที่ไม่บาดเจ็บ จากนั้น ยืนหันหลังให้ประตูแล้วเดินก้าวออกมาจนแผ่นยางตึงพอประมาณ วางเท้าข้างที่ไม่ได้ผูกยางไว้ข้างหน้าห่างไปสัก 2-3 ฟุต จิกปลายเท้าลงพื้น งอเข่าเล็กน้อยเปิดส้นเท้าขึ้น ลากเท้าข้างที่ผูกยางไปข้างหน้าจนนำเท้าอีกข้างไป 2-3 นิ้ว จากนั้นกลับสู่ท่าเริ่มต้น
– Back Pull เตรียมอุปกรณ์เหมือน Front Pull แต่เปลี่ยนเป็นยืนหันหน้าเข้าหาประตูแทน ยืนบนเท้าข้างที่ไม่ผูกยาง งอเข่าเล็กน้อย ปลายเท้าจิกพื้น และยกส้นเท้าไว้ เริ่มต้นด้วยการวางเท้าที่ผูกยางไว้หน้าเท้าอีกข้างประมาณ 1-3 นิ้ว แล้วลากเท้าข้างที่ผูกยางไปข้างหลัง 2-3 ฟุต เหยียดสะโพกและเข่าตามไป ปลายเท้าติดพื้นไว้ส้นเท้ากระดก จากนั้นย้อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น
ดร.เคนเนดีกล่าวว่า “คนไข้ที่เคยบาดเจ็บรุนแรงที่ข้อเท้า มักจะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเท่ากับตอนที่ยังไม่บาดเจ็บ แม้ว่าที่จริงจะไม่เป็นแบบนั้นก็ตาม“ ทั้งนี้ เพราะพวกเขาจะมองว่าข้อเท้ากลายเป็นจุดอ่อนของร่างกายไปเลย ดังนั้น การแก้มีอย่างเดียวที่ต้องทำให้ได้ ก็คือ การทำให้พวกเขารู้สึกว่าข้อเท้าของเขาสามารถกลับมาเป็นส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของร่างกายได้
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูที่ถูกวิธีที่จะทำให้ข้อเท้าของคุณกลับมาใช้งานได้ตามปกติและไม่หวนกลับไปเป็นอีก คุณจะต้องพยายามไม่ให้มีอาการข้อเท้าพลิกเกิดขึ้นอีกภายใน 1 ปี ซึ่งจะแปลว่า ‘ความเสี่ยงของคุณจะกลับไปเหลือเท่ากับตอนที่ข้อเท้าของคุณยังไม่เคยพลิก’
สุดท้ายแล้ววิธีที่ดีที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น “การป้องกันไม่ให้เกิดอาการพลิกตั้งแต่เริ่มแรก“ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การเลือกรองเท้าที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ข้อเท้าอย่างเหมาะสม การมีสติตลอดเวลา รวมไปถึงหารทำกายบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและปกป้องข้อเท้าตั้งแต่เริ่มแรก เป็นต้น น่าจะช่วยให้คุณมีข้อเท้าที่แข็งแรง และสามารถทำกิจกรรม เดินทาง หรือทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ต้องมาพะวงว่าจะเกิดอาการข้อเท้าพลิกเมื่อไร แค่นี้ชีวิตของคุณก็มีความสุขได้อีกมากมายแล้วละค่ะ
------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุค http://www.facebook.com/HealthyThailandCenter
ติดตามกูรูด้านสุขภาพทางไลน์ http://line.me/ti/p/%40HealthyThailand
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://goo.gl/oogIL8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น