เตือนภัย “ไขมันพอกตับ” โรคร้ายที่ต้องระวังให้มาก
ลองสังเกตตัวเองสักนิดว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่? เพราะสัญญาณต่อไปนี้ อาจบ่งชี้ว่าตับของคุณเริ่มจะมีปัญหาแล้วละ
– มีน้ำหนักตัวมาก และมีไขมันสะสมที่หน้าท้องเป็นพุงหลายชั้น
– ลดน้ำหนักยาก ลดอย่างไรก็ไม่ลง
– ตรวจเลือดแล้วพบว่ามีระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
– เป็นเบาหวาน
– รู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียง่าย
– รู้สึกเจ็บตึง ๆ ที่ชายโครงขวา
– เบื่ออาหาร รู้สึกรับประทานอาหารไม่ลง
– คลื่นไส้เป็นบางครั้ง
หากเริ่มมีอาการเหล่านี้ ลองอ่านบทความเหล่านี้ดู เพราะคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่กำลังจะสูญเสียตับ อวัยวะสำคัญไปก่อนก็ได้ และนั่นก็มีผลให้คุณสูญเสียชีวิตตามไปด้วยได้เช่นกัน หากได้รับการแก้ไขไม่ทันเวลา
4748-1-ไขมันพอกตับ%20ภัยเงียบที่มาพร้อมความอ้วน.html
อย่ามัวแต่สนใจเฉพาะการลดไขมันที่สะสมอยู่ตามหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา หรือใบหน้าเพียงอย่างเดียวเลยค่ะ แม้ว่าไขมันในบริเวณเหล่านี้จะค่อนข้างเด่นชัด และทำให้คุณกลายเป็นคนอ้วนเอาได้ง่ายๆ แต่การหันมาสังเกตการสะสมของไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณตับ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณลืมไม่ได้เลยเช่นกัน
ตับ เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษ และจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิต หากขาดตับไป การดำเนินชีวิตของคุณก็มีอันต้องสะดุด หรืออาจเสียชีวิตได้เลย ซึ่งนอกเหนือจากการทำร้ายตับด้วยการดื่มเหล่าอย่างหนักแล้ว การปล่อยให้มีไขมันสะสมในตับ ก็นับเป็นภัยอันตรายร้ายแรงที่คุณจำเป็นต้องจัดการด้วยเช่นกัน
ภาวะไขมันพอกตับสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่ดื่มสุราจะค่อนข้างน่ากลัวมากกว่า เพราะผู้ป่วยจะไม่มีทางทราบถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ในร่างกายของเขาได้เลย จนกระทั่งตรวจร่างกายแล้วพบด้วยความบังเอิญ
ประเทศไทยพบปัญหาภาวะไขมันพอกตับมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในโลหิตสูง ที่มีอายุค่อนข้างสูงตั้งแต่ 45
– 50 ปีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มมีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ลดลง ทำให้ไขมันมีโอกาสพอกตับมากขึ้น ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการของโรค 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่หนึ่ง มีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ
ระยะที่สอง เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากไม่มีการควบคุมดูแลและปล่อยให้การอักเสบอย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 6 เดือน ก็จะกลายเป็นอาการ ‘ตับอักเสบเรื้อรัง‘
ระยะที่สาม เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดพังผืดขึ้นในตับ ในขณะเดียวกัน เซลล์ตับก็ค่อย ๆ ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ
ระยะที่สี่ เมื่อเซลล์ตับอักเสบไปเรื่อยๆ ตับก็จะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
จนในที่สุดก็ก่อให้เกิดโรค ‘ตับแข็ง‘ และ ‘มะเร็งตับ‘ ในที่สุด
อาการของโรคตับเป็นโรคที่มีพัฒนาการค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ และที่สำคัญก็ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการของโรคที่แสดงออกอย่างชัดเจน ผู้ป่วยไขมันพอกตับกว่าร้อยละ 50 ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไขมันพอกตับระยะแรก โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ จนแทบไม่เป็นที่สังเกตเลย เช่น อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ตึง ๆ บริเวณใต้ชายโครงขวา เป็นต้น นอกจากนี้ ภาวะไขมันพอกตับจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่โรคจะดำเนินไปอีกขั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักกินเวลานานเป็น 10 ปี กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวอีกทีก็แก้ไขไม่ทันแล้ว
เมื่อมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าภาวะไขมันพอกตับเริ่มเล่นงานคุณเข้าแล้ว สิ่งที่ทำได้ ก็คือ การตรวจร่างกายประจำปี เพื่อตรวจเลือดหาว่าการทำงานของเอนไซม์ตับผิดปกติหรือไม่ ซึ่งผลเลือดจะแสดงถึงภาวะการอักเสบของตับได้นั่นเอง นอกจากนี้ อาจทำได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยเหล่านี้จะช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้ดีมากขึ้น
เมื่อทราบถึงความผิดปกติที่กำลังเป็นอยู่แล้ว ก็ต้องรีบเข้ารักษาทันที โดยเป้าหมายของการรักษาเบื้องต้น ก็ คือ
การพยายามลดไขมันที่สะสมอยู่ที่ตับ และลดการอักเสบของตับโดยการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับจะสามารถฟื้นฟูสภาพตับให้กลับมาดีขึ้นได้ด้วยการลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 9
อาการของโรคนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้มีไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะไขมันพอกตับได้สูงถึงร้อยละ90 และในจำนวนนี้ก็อาจมีปริมาณถึงร้อยละ 20 ที่มีอาการตับอักเสบร่วมด้วย ส่วนร้อยละ 10ก็สามารถพัฒนาความรุนแรงจนกลายเป็นโรคตับแข็งได้ในที่สุด
ดังนั้น การพยายามดูแลสุขภาพตับและอวัยวะอื่นๆให้ดีอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ น่าจะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสที่จะไปตรวจสุขภาพประจำปีก็ควรทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง หากเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นมา จะได้แก้ไขหรือเข้ารักษาร่างกายได้ทันเวลา และไม่บานปลายจนถึงแก่ชีวิตได้
------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุค http://www.facebook.com/HealthyThailandCenter
ติดตามกูรูด้านสุขภาพทางไลน์ http://line.me/ti/p/%40HealthyThailand
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://goo.gl/oogIL8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น