เพาะปลูกความทรงจำ
ทำไมถึงขี้ลืมแบบนี้? บางคนคงเคยคิดตำหนิตัวเองอยู่เรื่อยว่าทำไมถึงหลงลืมสิ่งต่างๆได้ง่ายนัก ซึ่งการจำไม่ได้อาจไม่ได้หมายความว่าสมองของคุณผิดปกติเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นเพราะคุณไม่ได้จัดเรียงความทรงจำอย่างเป็นระเบียบเพียงพอ หากคุณสามารถวางระบบการจัดข้อมูลในความทรงจำได้เป็นอย่างดี เมื่อถึงเวลาที่จะหยิบยกเอาความคิดที่เคยฝังเอาไว้ในสมองออกมาใช้ ก็จะสามารถทำได้ง่ายแล้วรวดเร็ว วันนี้เราจึงมาขอแนะนำวิธีในการจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นขั้นเป็นตอน แต่จะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ไปดูพร้อมๆกันได้เลยค่ะ
1. คิดทบทวนถึงสิ่งนั้น ๆ อย่างน้อย 8 วินาที
ในปัจจุบันนี้ การสังเกตหรือจดจำสิ่งต่างๆรอบตัวผ่านไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง บางครั้งเราจึงไม่จำเป็นต้องใช้สมองของเราเลยด้วยซ้ำ เพราะเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถจดจำหรือทำงานแทนเราได้เกือบทั้งหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เราหลงลืมที่จะลับสมองของเราให้แหลมคมอยู่ตลอดเวลา การจะช่วยพัฒนาสมองให้มีความจำที่ดี จึงควรที่จะต้องฝึกการครุ่นคิดถึงสิ่งๆนั้นให้ได้เวลาอย่างน้อย 8 วินาที เพื่อทำให้สมาธิของเราจดจำวนเวียนอยู่กับสิ่งนั้นๆในเวลาพอสมควร ทั้งนี้ก็เพราะว่า มีผลการศึกษาแนะนำมาแล้วว่า ช่วงเวลา 8 วินาที คือ ช่วงเวลาที่ต่ำที่สุดที่สมองจะใช้เพื่อย้ายข้อมูลหนึ่งๆที่เราได้รับมาจากส่วนความจำระยะสั้น ไปเก็บเอาไว้ยังส่วนความจำระยะยาว ดังนั้น หากเราคิดทบทวนให้นานกว่า 8 วินาทีได้ ก็ย่อมมีผลให้สมองจดจำข้อมูลได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
2. ใช้แบบอักษรประหลาดๆ
การสร้างความแปลกประหลาดให้แก่สิ่งที่ต้องการจะจดจำ สามารถช่วยทำให้คุณจดจำข้อมูลสำคัญเหล่านั้นได้ดีขึ้น นักวิจัยค้นพบความจริงเรื่องหนึ่งว่า การเพิ่มขนาดตัวอักษรและทำตัวหนานั้น ไม่สามารถทำให้เราจดจำได้ดีเท่ากับการใช้ตัวอักษรแปลกประหลาด เพราะการที่มันอ่านยากกว่าปกติหรือต่างไปจากความเคยชิน จะเป็นหนทางที่ทำให้เราจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ดีที่สุด
3. เริ่มจากมือข้างถนัดเสียก่อน
จากการศึกษาพบว่า หากเราเริ่มจดจำสิ่งรอบตัวจากร่างกายก่อน จะช่วยให้เราสามารถใช้สมองจดจำสิ่งต่างๆได้ดีมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ หากเราเป็นคนถนัดมือขวา ก็ให้ฝึกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือขวาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งการที่เราคุ้นเคยกับการใช้มือขวาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะทำให้สมองจดจำหรือระลึกถึงสิ่งเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงค่อยลองใช้มือซ้ายข้างที่ไม่ถนัดจับต้องสิ่งเหล่านั้นอีกสักพัก เพื่อให้ข้อมูลถูกบีบอัดอยู่ในหัวของเราได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
4. หลีกเลี่ยงการเดินผ่านประตู
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าในขณะที่เรากำลังครุ่นคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ แล้วเผลอเดินผ่านประตูเข้าไปในห้องหนึ่งๆ จะทำให้ความทรงจำที่เรากำลังคิดอยู่ในขณะนั้นหายไปอย่างกะทันหัน คุณอาจจะลืมว่า “นี่ฉันเข้ามาทำอะไรในห้องนี้เนี่ย” ทั้งๆที่เมื่อสักครู่นี้ คุณยังจำได้อยู่เลยว่าเหตุผลที่ทำลงไปคืออะไร ทั้งนี้ก็มีเหตุผลมาจากการเดินจากห้องหนึ่งสู่ห้องหนึ่งผ่านประตูเนี่ยละ ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้สมองของเราว่างเปล่าแบบกะทันหัน อย่างที่มีการทดลองจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า หากให้ผู้เข้ารับการทดสอบนำเอาวัตถุชิ้นหนึ่งเข้าไปวางในห้อง จากนั้นสั่งให้เดินออกมา แล้วยิงคำถามทันทีเมื่อเขาเดินทางก้าวพ้นขอบประตูออกมา ซึ่งผลการทดลองพบว่า กลุ่มผู้ทดสอบมีแนวโน้มที่จะหลงลืมว่าวัตถุชิ้นนั้นที่เพิ่งจับต้องไปคืออะไร มากกว่ากลุ่มคนที่เดินออกจากวัตถุในระยะทางเท่ากันแต่ยังคงอยู่ภายในห้องนั้น โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลว่า การเดินเข้าสู่สถานที่แห่งใหม่จะเปรียบเสมือนการรีสตาร์ทสมองของเรา ทำให้เราเริ่มที่จะจดจำในสิ่งใหม่ และแน่นอนว่าสิ่งเดิมที่เคยคิดไว้ก็จะถูกหลงลืมไปนั่นเอง
5. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านความจำอีกด้วย เพราะการที่เราลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างทางกายภาพ จะทำให้ร่างกายและสมองมีความตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนที่จะเข้าไปเลี้ยงในสมองด้วย ทำให้ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์สมองในส่วนที่ตอบสนองต่อความทรงจำได้เป็นอย่างดี งานวิจัยกล่าวถึงการออกกำลังกายที่มีผลต่อความจำไว้ว่า หลังจากที่ผู้หญิงผ่านการออกกำลังกายเบาๆไปแล้ว จะทำให้พวกเธอสามารถจำจดสิ่งต่างๆ ได้ดีมากกว่าช่วงก่อนการออกกำลังกาย และหากผู้หญิงกลุ่มนั้นผ่านการออกกำลังกายมานานติดต่อกัน 6 เดือน ก็จะมีส่วนในการพัฒนาความจำด้านภาษาและสภาพแวดล้อมได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุค http://www.facebook.com/HealthyThailandCenter
ติดตามกูรูด้านสุขภาพทางไลน์ http://line.me/ti/p/%40HealthyThailand
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://goo.gl/oogIL8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น