*** สามารถติดตามเคล็ดลับสุขภาพดีดีที่ไลน์แอดไอดี @HealthyThailand หรือคลิก http://line.me/ti/p/%40healthythailand อย่าลืมคลิกมีกิจกรรมสนุกๆรับของรางวัลด้วยน้า ^

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กิน “ก๋วยเตี๋ยว” อย่างไรให้ปลอดภัย ?


กิน “ก๋วยเตี๋ยว” อย่างไรให้ปลอดภัย ?

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้อันตรายอยู่ข้างกายเราตลอดเวลา และสามารถทำร้ายเราได้ทุกเมื่อ บางทีเราเองนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำเลยว่า เรากำลังกินสารพิษเข้าไปทีละน้อยๆทุกวัน จะไปรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เกิดโรคร้ายขึ้นมาแล้ว แล้วก็จะมานั่งนึกเสียใจตอนหลัง ว่าทำไมตอนนั้นฉันไม่ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีกว่านี้ อย่าให้ถึงเวลานั้นเลยค่ะ เรามาพยายามหาวิธีป้องกันการรับสารพิษให้ดีที่สุดก่อนดีกว่า ซึ่งวันนี้จะขอแนะนำการรับประทานก๋วยเตี๋ยวอย่างปลอดภัย ต้องทำอย่างไรบ้าง ตามมาดูเลย
กิน "ก๋วยเตี๋ยว" อย่างไรให้ปลอดภัย ?
ภาพจาก Kuy teav – Wikipedia.org
กิน “ก๋วยเตี๋ยว” อย่างไรให้ปลอดภัย ?
    เส้นก๋วยเตี๋ยวกับสารกันบูดเป็นของคู่กัน เพราะถ้าผู้ผลิตไม่ใส่มันลงไป เส้นก๋วยเตี๋ยวของเขาก็จะเสียไวและขายไม่ได้ แต่เราเองสามารถมีวิธีในการหลีกเลี่ยงการทานสารกันบูดได้ โดยการเลือกทานให้ถูกวิธี แค่นี้ก็สบายใจได้แล้ว
    ด้วยความที่เส้นก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่จะทำจากแป้งข้าวเจ้า ทำให้มีความชื้นสูง และขึ้นราง่าย ผู้ผลิตจึงทำให้ต้องผสมสารกันบูดอย่างกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ลงไป เพื่อยืดเวลาให้เส้นก๋วยเตี๋ยวสามารถทานได้นานขึ้น การเติมสารตัวนี้ไม่ผิดเพียงแต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น โดยปริมาณที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
    แต่เพราะปริมาณที่กฎหมายกำหนดนี้ยังไม่สามารถยืดอายุของเส้นก๋วยเตี๋ยวได้นานเท่าที่พ่อค้าแม่ค้าพอใจ ทำให้พวกเขาจงใจใส่มันลงไปเกินมาตรฐาน เมื่อลูกค้าที่ไม่รู้เรื่องทานเข้าไป โอกาสที่สารพิษจะตกถึงท้องคนกินจึงมีสูงมากนั่นเอง
    คณะกรรมการกำหนด มาตรฐานอาหารสากล (Codex) ได้กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ผลจากการตรวจวิเคราะห์ ตัวอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวใน 4 จังหวัดภาคอีสาน คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ กลับพบผลที่น่าตกใจว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกประเภทที่เก็บมาตรวจวิเคราะห์ ล้วนแต่พบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานตั้งแต่ 1,079-17,250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังต่อไปนี้
  •     เส้นเล็ก 17,250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  •     เส้นหมี่ 7,825 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  •     ก๋วยจั๊บเส้นใหญ่ 7,358 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  •     ก๋วยจั๊บเส้นเล็ก 6,305 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  •     บะหมี่โซบะ 4,593 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  •     ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ 4,230 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 
    จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เส้นเล็กเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่พบปริมาณกรดเบนโซอิกได้มากที่สุด ส่วนเส้นบะหมี่เหลืองหรือวุ้นเส้นนั้นแทบจะไม่พบสารตัวนี้เลย เนื่องจากเส้นทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าโดยเส้นบะหมี่ผลิตจากแป้งสาลี ส่วนวุ้นเส้นผลิตจากแป้งถั่วเขียว  จึงใส่สารกันบูดน้อยกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดอื่น
    เมื่อคิดค่าเฉลี่ยน้ำหนักผู้บริโภคคนไทยที่ 50 กิโลกรัม จะพบว่า ปริมาณสูงสุดที่คนไทยควรบริโภคจะต้องไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งการกินก๋วยเตี๋ยว 1 มื้อ จะมีเส้นประมาณ 50-100 กรัม เท่ากับว่าผู้บริโภคจะได้รับกรดเบนโซอิกประมาณ 226-451 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณกรดเบนโซอิกที่สูงขนาดนี้จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้อย่างแน่นอน แต่นี่ยังไม่นับรวมวัตถุกันเสียในอาหารอื่นๆที่คุณกินเข้าไปในแต่ละวันด้วยนะ เพราะถ้าคุณกินอาหารชนิดอื่นที่มีส่วนประกอบของวัตถุกันเสียในปริมาณที่สูงเหมือนกัน โอกาสที่คุณจะได้รับสารพิษก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
    การที่ร่างกายได้รับสารตัวนี้ในปริมาณสูงเป็นเวลานาน จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง ซึ่งแม้ว่าวันนี้คุณจะยังไม่เห็นว่าจะเกิดโรคร้ายแรงกับตัวเองแต่อย่างใด แต่ในวันข้างหน้าที่ร่างกายสะสมสารตัวนี้ได้อย่างมากพอ วันนั้นคุณจะต้องมานั่งเสียใจภายหลังแน่ๆ
สารกันบูดในก๋วยเตี๋ยวไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งการใส่สารกันบูดลงไปก็ไม่ได้มีผลต่อรสชาติ ทำให้คุณยากที่จะแยกออกว่า ก๋วยเตี๋ยวชามไหนใส่สารกันบูดหรือชามไหนไม่ได้ใส่สารกันบูด ส่วนใครที่คิดว่าการลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยความร้อนสูงจะช่วยทำลายความร้ายกาจของสารกันบูดลงไปได้บ้าง ก็ต้องผิดหวังแล้วค่ะ เพราะกระบวนการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นได้ผสมสารตัวนี้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับเส้นไปแล้ว จึงเป็นการยากที่เราจะทำลายสารกันบูดได้ด้วยความร้อน
    อย่างไรก็ตาม ยังพอมีแนวทางในการสังเกตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใส่สารกันบูดลงไปในจำนวนมากได้บ้าง โดยอย. มีข้อแนะนำว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีการใส่สารกันบูดลงไปจะมีลักษณะ“เหนียวหนึบ” เมื่อใช้ฟันกัด จะไม่ค่อยแยกขาดออกจากกัน และเมื่อสังเกตน้ำในหม้อลวกเส้น จะเห็นได้ว่าน้ำที่ลวกจะ “ขุ่น” กว่าปกติ โดยทั่วไปแล้วเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่หรือเส้นสดที่ใส่สารกันบูดเมื่อทิ้งไว้ 2-3 วัน สีสันจะยังคงเดิมอยู่ แต่หากนำมาดมกลิ่นจะได้กลิ่น “เหม็นเปรี้ยว” ในขณะที่เส้นที่ไม่ใส่สารกันบูด เพียงแค่ทิ้งไว้เพียงชั่วข้ามคืน เส้นก็ขึ้นราและบูดเสียไปแล้ว
    เป็นการยากที่เราจะหลีกเลี่ยงการทานก๋วยเตี๋ยวที่ผสมสารกันบูดได้ เพราะสารตัวนี้แทรกซึมเข้าไปในอุตสาหกรรมการผลิตเส้นทั่วประเทศไทยแล้ว สิ่งที่พอจะทำได้ ก็คือ การเลือกกินอย่างพอเหมาะหรือเลือกทานเส้นบะหมี่หรือวุ้นเส้นให้มากขึ้น เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้มากแล้วค่ะ

------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุค   http://www.facebook.com/HealthyThailandCenter    
ติดตามกูรูด้านสุขภาพทางไลน์   http://line.me/ti/p/%40HealthyThailand
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม  http://goo.gl/oogIL8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทักทาย แนะนำ ติชม แสดงความคิดเห็น