"แองเจลล่า มอริส" ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวางแผน เจ.วอลเตอร์ ธอมป์สัน ออสเตรเลีย กล่าวว่า เจ.วอลเตอร์ ธอมป์สัน ได้ร่วมกับทีเอ็นเอส ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคถึงการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ในช่องทางออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ "Participation-Beyond the Hype" โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากผลสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคผ่านออนไลน์ ครอบคลุม 5,600 คน ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และไทย ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
จากผลศึกษาระบุว่า การที่แบรนด์ต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ในออนไลน์มากเกินไป ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดและการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้ติดตาม แต่อยู่ที่เนื้อหาที่ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งจำนวนการติดตามนั้นเป็นเพียงข้อบ่งชี้ว่า ผู้บริโภครับรู้
"แม้แบรนด์ส่วนใหญ่ยังคงเรียกร้องผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆแต่พบว่ามีผู้บริโภคเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารจากแบรนด์โดยมีผู้บริโภคเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่พร้อมจะมีส่วนร่วมกับแบรนด์ทางออนไลน์ และมีเพียง 8% ที่สนใจมีส่วนร่วมกับแบรนด์ที่ชักชวนให้เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างคอนเทนต์"
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริโภค 58% มีแนวโน้มจะมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ในกรณีที่แบรนด์ให้ข้อมูลที่ง่ายต่อการเข้าใจ และไม่เรียกร้องอะไร ตามด้วย 48% ของผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์เป็นที่ชื่นชอบ หากว่าข้อมูลที่แบรนด์นำเสนอเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิง และ 37% ของผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังถูกแบรนด์หลอกใช้ เมื่อถูกขอร้องให้มีส่วนร่วมกับแคมเปญการตลาดออนไลน์
สำหรับผู้บริโภคไทย แม้ว่าจะมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์มีจำนวนมาก แต่ชื่นชอบการมีส่วนร่วมในรูปแบบง่าย ๆ เช่น กดไลก์ คอมเมนต์ คลิกดูคลิปวิดีโอ เป็นต้น แต่เมื่อแบรนด์เรียกร้องการมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคไทยกลับมองว่า กำลังถูกเรียกร้องจากแบรนด์มากเกินไป ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดใน 7 ประเทศที่ร่วมทำการสำรวจ
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า จุดสำคัญที่จะทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ คือการให้ข้อมูลที่กำลังอยู่ในความสนใจ และเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค อีกทั้งต้องเสริมจุดยืนของแบรนด์ให้แข็งแกร่งและชัดเจน เพื่อสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์
เมื่อเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้แบรนด์ใช้ได้เข้าหาผู้บริโภคได้ตลอดเวลาก็กลายเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตที่แบรนด์ต้องบาลานซ์ทั้งสองอย่างให้ลงตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น